ในการกำหนดมาตรฐาน มาตรการและหลักเกณฑ์การตรวจสอบระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตามความในมาตรา 312 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ให้การตรวจเงินแผ่นดินกระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง และมาตรา 333 บัญญัติให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการวางนโยบาย การกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้ยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับเดิมคือ พระราชบัญญัติการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2522 และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แทนโดยมีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา 333 ดังกล่าว ซึ่งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินออกระเบียบหรือประกาศกำหนดมาตรฐาน หรือมาตรการเกี่ยวกับระบบและการควบคุมการตรวจสอบการบริหารงบประมาณสำหรับหน่วยรับตรวจ ตามมาตรา 15 (3) (ก)(ข)(ค)(ง) และการให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 15 (7)(ก)(ข)(ค) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

วัตถุประสงค์

เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานที่เป็นนโยบาย คณะที่ 1 เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำกรอบความสัมพันธ์ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐาน มาตรการและหลักเกณฑ์การตรวจสอบระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึง ภาระหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานอย่างชัดเจน คณะอนุกรรมการ กลั่นกรองงานที่เป็นนโยบาย คณะที่ 1 จึงได้จัดทำ Module แบ่งเป็น 5 Module พร้อมแผนภาพ ดังนี้

  1. Module A ความสัมพันธ์ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยรับตรวจ
  2. Module B ความสัมพันธ์ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  3. Module C ความสัมพันธ์ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กับหน่วยรับตรวจ
  4. Module D ความสัมพันธ์ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ ระหว่างผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและหน่วยรับตรวจ
  5. Module E การประสานงานระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับคณะกรรมการตรวจสอบภาคราชการ (Audit Committee)
เอกสารแนบ: